ประวัติความเป็นมาของแคนชาวอีสาน
แคน เป็นชื่อเครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคอีสานที่เก่าแก่มีมาแต่โบราณ แคนเป็น เครื่องดนตรีที่ใช้ปากเป่าให้เป็นเพลง ใครเป็นผู้คิดประดิษฐ์เครื่องดนตรีที่เรียกว่า "แคน" เป็น คนแรก และทำไมจึงเรียกว่า "แคน" นั้น ยังไม่มีหลักฐานที่แน่นอนยืนยันได้ แต่ก็มีประวัติที่เล่า เป็นนิยายปรัมปราสืบต่อกันมา ดังต่อไปนี้
ตำนานหญิงหม้ายผู้คิดประดิษฐ์ทำแคน กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีพรานคนหนึ่งได้ไปเที่ยวล่าเนื้อในป่า เขาได้ยินเสียงนกกรวิก (นกการเวก) ร้องไพเราะจับใจมาก เมื่อกลับมาจากป่าถึงบ้าน จึงได้เล่าเรื่องที่ตัวเองไปได้ยินเสียง นกกรวิกร้องด้วยเสียงไพเราะนั้นให้แก่ชาวบ้าน เพื่อนฝูงฟัง ในจำนวนผู้ที่มาฟังเรื่องดังกล่าวนี้มี หญิงหม้ายคนหนึ่งเกิดความกระหายใคร่อยากจะฟังเสียงร้องของนกกรวิกยิ่งนัก จึงได้พูดขอร้อง ให้นายพรานล่าเนื้ออนุญาตให้ตนติดตามไปในป่าด้วย เพื่อจะได้ฟังเสียงร้องของนก ตามที่นาย พรานได้เล่าให้ฟัง ในวันต่อมาครั้นเมื่อนายพรานล่าเนื้อได้พาหญิงหม้ายดั้นด้นไปถึงในป่า จนถึง ถิ่นที่นกกรวิก และนกเหล่านั้นก็กำลังส่งเสียงร้องตามปกติวิสัยของมัน นายพรานก็ได้กล่าวเตือน หญิงหม้ายให้เงี่ยหูฟังว่า "นกกรวิกกำลังร้องเพลงอยู่ สูเจ้าจงฟังเอาเถอะ เสียงมันออนซอนแท้ แม่นบ่" หญิงหม้ายผู้นั้น ได้ตั้งใจฟังด้วยความเพลิดเพลิน และติดอกติดใจในเสียงอันไพเราะ ของนกนั้นเป็นยิ่งนัก ถึงกับคลั่งไคล้ใหลหลง รำพึงอยู่ในใจตนเองว่า "เฮ็ดจั่งได๋นอ จั่งสิได้ฟังเสียงอันไพเราะ ม่วนชื่น จับใจอย่างนี้ตลอดไป ครั้นสิคอยเฝ้า ฟังเสียงนกในถิ่นของมัน ก็เป็นแดนดงแสนกันดาร อาหารก็หายาก หมากไม้ก็บ่มี" จึงได้คิดตัดสิน แน่วแน่ในใจตนเองว่า "เฮาสิต้องคิดทำเครื่องบังเกิดเสียง ให้มีเสียงเสนาะ ไพเราะออนซอนจับใจ ดุจดังเสียง นกกรวิกนี้ให้จงได้" เมื่อหญิงหม้ายกลับมาถึงบ้าน ก็ได้คิดอ่านทำเครื่องดนตรีต่าง ๆ ทั้งเครื่องดีด สี ตี เป่า หลาย ๆ อย่าง ก็ไม่มีเครื่องดนตรีชนิดใดมีเสียงไพเราะวิเวกหวานเหมือนเสียงนกกรวิก ในที่สุดนาง ได้ไปตัดไม้ไผ่น้อยชนิดหนึ่ง เอามาประดิษฐ์ดัดแปลงเป็นเครื่องเป่าชนิดหนึ่ง แล้วลองเป่าดู ก็รูสึก ค่อนข้างไพเราะ จึงได้พยายามดัดแปลงแก้ไขอีกหลายครั้งหลายครา จนกระทั่งเกิดเป็นเสียงและ ท่วงทำนองอันไพเราะเหมือนเสียงนกกรวิก จนในที่สุดเมื่อได้แก้ไขครั้งสุดท้ายแล้วลองเป่าก็รู้สึก ไพเราะออนซอนดีแท้ จึงคิดที่จะไปทูลเกล้าถวายพระเจ้าปเสนทิโกศล ให้ทรงทราบ ก่อนที่จะได้เข้าเฝ้า นางก็ได้เพียรพยายามปรับปรุงแก้ไขเสียงดนตรีของนางให้ดีขึ้นกว่า เดิม และยังได้ฝึกหัดเป่าเป็นท่วงทำนองต่าง ๆ จนมีความชำนาญเป็นอย่างดี ครั้นถึงกำหนดวันเข้าเฝ้า นางก็ได้เป่าดนตรีจากเครื่องมือที่นางได้คิดประดิษฐ์ขึ้นนี้ ถวาย เมื่อเพลงแรกจบลง นางจึงได้ทูลถามว่า "เป็นจั๋งได๋ ม่วนบ่ ข้าน้อย" พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้ตรัสตอบว่า "เออ พอฟังอยู่" นางจึงได้เป่าถวายซ้ำอีกหลายเพลง ตามท่วงทำนองเลียนเสียงนกกรวิกนั้น เมื่อจบถึง เพลงสุดท้าย พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้ทรงตรัสว่า "เทื่อนี่ แคนแด่" (ครั้งนี้ ดีขึ้นหน่อย) หญิงหม้าย เจ้าของเครื่องดนตรี จึงทูลถามว่า "เครื่องดนตรีอันนี่ ควรสิเอิ้นว่าจั่งได๋ ข้าน้อย" (เครื่องดนตรีนี้ ควรจะเรียกว่าอย่างไร พระเจ้าข้า) พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงตรัสว่า "สูจงเอิ้นดนตรีนี้ว่า "แคน" ตามคำเว้าของเฮา อันท้ายนี้ สืบไปเมื่อหน้าเทอญ" (เจ้าจงเรียกดนตรีนี้ว่า "แคน" ตามคำพูดของเราตอนท้ายนี้ ต่อไปภายหน้าเถิด) ด้วยเหตุนี้ เครื่องดนตรีที่หญิงหม้ายประดิษฐ์ขึ้นโดยใช้ไม้ไผ่น้อยมาติดกันใช้ปากเป่า จึงได้ชื่อว่า "แคน" มาตราบเท่าทุกวันนี้ นี่เป็นเพียงนิทานปรัมปราที่เล่าสืบต่อกันมา ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอน บางท่านก็สันนิษฐานว่า คำว่า "แคน" คงจะเรียกตามเสียงเครื่องดนตรีที่ดังออกมาว่า "แคนแล่นแคน แล่นแคน แล่นแคน" ซึ่งเป็นเสียงที่ดังออกมาจากการเป่าเครื่องดนตรีชนิดนี้ แต่ บางคนก็มีความเห็นว่า คำว่า "แคน" คงเรียกตามไม้ที่ใช้ทำเต้าแคน กล่าวคือ ไม้ที่นำมาเจาะใช้ ทำเต้าแคนรวมเสียงจากไม้ไผ่น้อยหลาย ๆ ลำนั้น เขานิยมใช้ไม้ตะเคียน ซึ่งภาษาท้องถิ่นทางภาค อีสานเรียกว่า "ไม้แคน" แต่บางท่านก็ให้ความเห็นที่แตกต่างกันออกไป แต่มีสิ่งหนึ่งที่น่าคิดอยู่บ้างคือ "แคน" นี้น่าจะทำขึ้นโดยผู้หญิง ซ้ำยังเป็น "หญิงหม้าย" เสียด้วย ด้วยเหตุผลที่ว่า ส่วนประกอบที่ใช้ทำแคนอันสำคัญคือส่วนที่ใช้ปากเป่า ยังเรียกว่า "เต้า แคน" และมีลักษณะรูปร่างเป็นกระเปาะคล้าย "เต้านม" ของสตรีอีกด้วย ทั้งการเป่าแคนก็ใช้วิธี เป่าและดูด จนสามารถทำให้เกิดเสียงอันไพเราะ นอกจากนี้ยังมีเหตุผลสนับสนุนอีกข้อคือ คำที่ เป็นลักษณะนามเรียกชื่อและจำนวนของแคนก็ใช้คำว่า "เต้า" แทนคำว่า อัน หรือ ชิ้น ฯลฯ ดังนี้ เป็นต้น ที่สำคัญคือ เสียงของแคนเป็นเสียงที่ไพเราะอ่อนหวาน ซาบซึ้งเหมือนเสียงนกการเวก ตาม นิทานเรื่องดังกล่าว เหมือนเสียงของหญิงหม้ายที่ว้าเหว่เดียวดาย ดังนั้นถ้าจะกล่าวว่า "หญิงหม้าย" เป็นผู้ประดิษฐ์คิดทำแคนขึ้นเป็นคนแรก จึงเป็นเหตุผลที่น่ารับฟังได้มากพอสมควรทีเดียว ลักษณะของแคนมีสองชนิด คือ แคนน้อย (ยาวศอก คืบ ยาวสองศอก ยาวสองศอกคืบ) และแคนใหญ่ (ยาวสามศอก ยาวสามศอกคืบ สี่ศอก สี่ศอกคืบ) ที่เคยใช้ในปัจจุบัน แต่ที่เคยมี ยาวถึงหกศอก แคนสองขนาดนี้แบ่งเป็นสองอย่าง คือ แคนเจ็ด และแคนแปด แคนเจ็ดนั้นมีลูกเจ็ดคู่ ส่วนแคนแปดนั้นมี 8 คู่
ตำนานนายพรานผู้หนึ่งตามล่ากวางเข้าไปในป่าลึก บังเอิญไปได้ยินเสียงนกการเวก เสียงนั้นหวานเสนาะไพเราะจับใจเหลือประมาณ ทำเอาความเหน็ดเหนื่อยหิวกระหายของเขาปลาสน์สิ้น เมื่อกลับมายังหมู่บ้านก็อดไม่ได้ที่จะเล่าถึงเสียงอันวิเศษนั้นให้ใครต่อใครฟัง ทำเอาสาวแม่ม่ายนางหนึ่งรบเร้าขอติดตามเข้าไปในป่า เพื่อฟังเสียงนกการเวกนั้นให้ได้ นายพรานเองก็ยินดีให้นางติดตาม ในคราวเข้าป่าล่าสัตว์ในเที่ยวถัดมาเสียงของนกการเวกวิเศษจริงดังที่นายพรานเล่า หญิงแม่ม่ายได้ฟังแล้วติดใจ อยากจะจับมาเลี้ยงไว้ก็สุดปัญญา เพราะนกตัวเล็กบินว่องไว นางจึงพยายามจดจำเสียงนั้นไว้ให้แม่นยำ ตั้งใจว่าจักต้องประดิษฐ์เครื่องดนตรีสักอย่างหนึ่ง มาบรรเลงให้เหมือนเสียงนกการเวกนั้นให้จงได้ นางได้ทดลองทำเครื่องดนตรีขึ้นหลายชนิด มีทั้งดีดสีตีเป่า แต่ก็ยังไม่มีเสียงใดเหมือนเสียงนกการเวกเลยสักเครื่องเดียว นางพยายามคิดค้นและประดิษฐ์เครื่องดนตรีชนิดใหม่ต่อไปเรื่อยๆ นานจนแทบหมดความพยายาม ในที่สุดก็พบว่า เครื่องดนตรีที่ให้คุณภาพเสียงใกล้เคียงกับเสียงนกการเวกมากที่สุดคือ เครื่องที่ทำจากท่อไม่ไผ่ลำเล็กๆหลายลำ แต่ละลำมีลิ้นฝังแล้วจัดเรียงลำไม้ไผ่ส่วนที่ฝังลิ้นผนึกไว้ในเต้า บรรเลงด้วยการเป่าลมผ่านเต้าเข้าไปสั่นลิ้น นางทดลองและปรับปรุงเครื่องดนตรีชนิดนี้ทั้งรูปลักษณ์และวิธีเล่นจนเป็นที่พอใจ ตั้งใจว่าจักต้องนำออกแสดงต่อที่ชุมนุมชนให้เป็นที่ประจักษ์ มีผู้แนะนำให้นางหาทางแสดงถวายต่อหน้าพระที่นั่งพระมหากษัตริย์ จะทำให้เสียงดนตรีที่วิเศษอยู่แล้วมีเกียรติปรากฏเลื่องลือไปได้อย่างรวดเร็ว ด้วยความพยายามของนาง และความช่วยเหลือชี้นำของข้าราชบริพารผู้ใหญ่ นางได้มีโอกาสแสดงดนตรีชนิดนั้นต่อหน้าพระที่นั่งจนได้ นางได้บรรเลงเพลงหลายแนวทำนองให้ทรงสดับ ดูเหมือนองค์พระราชาจะตอบสนองนาง ด้วยอากัปกิริยาเยือกเย็นโดยตลอด ทำให้นางกังขาว่าเสียงดนตรีที่บรรเลงออกไป น่าจะไม่ต้องพระราชหฤทัย นางจึงเปลี่ยนทำนองลีลาใหม่ บรรเลงเป็นเสมือนเสียงนกการเวกร้องอยู่ริมธารน้ำตก มีเสียงจักจั่นเรไรร้องเซ็งแซ่ประสาน (น่าจะเป็นลายสุดสะแนน) เมื่อพระราชาได้สดับเพลงนั้นก็ทรงพอพระทัย ตรัสว่า “เออ อันนี้แค่นดี” ซึ่งมีความหมายว่า “เออ อันนี้ เข้มข้นดี” คนทั้งหลายจึงเรียกเครื่องดนตรีชนิดนั้นว่า “แค่น” และกลายมาเป็น “แคน” ในที่สุด
นักวิชาการด้านมานุษยดุริยางควิทยา จำแนกเครื่องดนตรีจำพวกแคนไว้ในกลุ่มเครื่องลม (Aerophone) ชนิดที่มีเสียงลิ้นอิสระ เสียงแคนเกิดจากการเป่า และการดูดกระแสลม ผ่านลิ้นโลหะที่ฝังอยู่ ในรูบากข้างลำท่อ ลิ้นแคนลิ้นเดิมให้เสียงระดับเดิมทั้งขาเป่า และขาดูดกระแสลมผ่าน จึงเรียกว่าเป็นลิ้นแบบอิสระ ดังกล่าวแล้ว
การเป่าแคนใช้มือทั้งสองข้าง ใช้นิ้วทั้งสิบนิ้ว ผู้เป่าควบคุมระดับเสียงของลูกแคนได้ ด้วยการขยับปลายนิ้วมือทั้งสองข้างปิดเปิดรูนับ ซึ่งเจาะไว้ที่ส่วนเหนือเต้าของลูกแคนทุกลูก ลูกใดถูกปิดรู ลูกนั้นจะส่งเสียง นั่นคือ ใช้นิ้วบังคับระดับเสียง ใช้ลมบังคับเสียงและจังหวะ ตามอารมณ์ลายเพลง เสียงแคนที่ออกมานั้น มีทั้งทำนองเพลง เสียงประสาน เสียงสอดแทรก แสดงถึงอารมณ์ และความรู้สึกต่าง ๆ อย่างพร้อมมูลทีเดียว …..เป็นเครื่องดนตรีที่ไม่สามารถใช้ อุปกรณ์อีเลกทรอนิกส์ เลียนเสียงได้เหมือน เพราะอุปกรณ์อีเลกทรอนิกส์ ให้อารมณ์เพลงไม่ได้ ยิ่งถ้าได้หมอแคนที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญมากๆ มาเป่าแคน ยิ่งจะเพิ่มความไพเราะ ซาบซึ้งจับใจมากยิ่งขึ้น ฟังแล้ว เกิดความรู้สึกที่เรียกว่า “ออนซอน” ยากที่จะหาเครื่องดนตรีอื่นๆ มาเทียบได้
นักดนตรีชาวไทยเรียกแคน 1 เครื่องว่า “แคน 1 เต้า” ….ในขณะที่นักดนตรีชาวลาว เรียกว่า “แคน 1 ดวง” แคนเต้าหนึ่ง ประกอบด้วยลูกแคนหลายลูก ลูกแคนต่างลูก ให้เสียงต่างระดับกัน ระบบเสียงของแคน จึงขึ้นอยู่กับระดับเสียงต่างๆ ของลูกแคนที่รวมอยู่ในแคนแต่ละเต้า
แคนทำจากไม้เฮี้ยน้อย ซึ่งช่างแคนไทยเรียกว่าไม้กู่แคน เกิดเสียงได้เพราะ มีลิ้นโลหะติดอยู่ที่รอยเจาะ ข้างลำท่อลูกแคนลูกละลิ้น ลูกแคนแต่ละลูกมีระดับเสียงต่างกัน เพราะมีระยะห่างระว่างลิ้นกับรูแพวไม่เท่ากัน… รูแพวคือรูเสียงเจาะไว้ 2 รู เหนือและล่างลูกแคน ลูกแคนของแคน 1 เต้า จะถูกจัดเป็น 2 แพ สอดเรียงไว้ในเต้าแคน ผนึกส่วนที่ฝังลิ้นไว้ในเต้าแคน ด้วยขี้สูด มัดปลายแพลูกแคนที่โผล่ออกนอกเต้าทั้งด้านบนและด้านล่าง ด้วยตอกเครือหญ้านาง หรือตอกหวาย
การจำแนกประเภทของแคน จำแนกตามจำนวนลูกแคนที่ประกอบรวมกันอยู่ในเต้า มี 5 ประเภท คือ
แคนหก มีลูกแคน 6 ลูก (3 คู่)
แคนเจ็ด มีลูกแคน 7 คู่ (14 ลูก )
แคนแปด มีลูกแคน 8 คู่ (16 ลูก)
แคนเก้า มีลูกแคน 9 คู่ (18 ลูก)
แคนสิบ มีลูกแคน 10 ลูก (5 คู่)
แคนหก มีระดับเสียงอยู่ในมาตราเพนตะโทนิค (มี 5 โน้ต) นอกนั้น มีระบบเสียงเป็นมาตราไดอะโทนิค (มี 7 โน้ต)
การเรียกบันไดเสียงของแคนแต่ละเต้า เรียกเป็นตัวเลขบอกจำนวนนิ้วโป้ง โดยยึดเอาลูกแคนเสียง “ลาต่ำ” (motive) เป็นเสียงหลัก ระยะห่างระหว่างลิ้นแคนกับรูแพว ที่เจาะไว้ส่วนล่างของลูกแคนนี้ วัดได้กี่นิ้วโป้ง ก็จะใช้เลขจำนวนนั้น เป็นชื่อเรียกบันไดเสียงของแคนทั้งเต้า เช่น ถ้าลูกเสียง “ลาต่ำ” ของแคนเต้าหนึ่ง วัดระยะห่างระหว่างลิ้นแคนกับรูแพวล่างได้ 7 นิ้วโป้ง ก็เรียกบันไดเสียงของแคนเต้านั้นว่าเป็น “แคนเจ็ดโป้” (โป้ เป็นภาษาอีสาน แปลว่านิ้วโป้ง) เทียบได้กับประมาณบันไดเอไมเนอร์หรือซีเมเจอร์ ของสเกลดนตรีสากล
ส่วนประกอบของแคน
แคนมีส่วนประกอบต่างๆ ดังนี้
1.ลูกแคน 2.เต้าแคน 3.หลาบโลหะ 4.ขี้สูดหรือชันโรง 5.ไม้กั้น 6.เชือกมัด
1. ลูกแคน
ลูกแคน ทำจากไม้ตระกูลไผ่ชนิดหนึ่ง ทางภาคอีสานเรียกว่าไม้ไผ่เฮี้ย ชาวลาวเรียกว่า ไม้เฮี้ยน้อย ทางภาคกลางและทางเหนือเรียกไม้ซาง และเนื่องจากไม้ไผ่เฮี้ยนี้ โดยมากนำมาใช้ทำแคนเป็นหลัก ช่างแคน จึงนิยมเรียกว่า ไม้กู่แคนไม้กู่แคน เป็นพืชตระกูลไผ่ มีลำเล็กๆ ขนาดประมาณเท่านิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้และนิ้วนาง มีปล้องค่อนข้างยาว ภายในมีรู มีเปลือกบาง ก่อนนำมาใช้ จะลนไฟแล้วดัดให้ตรง แบ่งขนาดความยาวตามความเหมาะสมของเสียงแคนและรูปทรงแคน ไม้กู่แคนทุกลำทะลุข้อออกเพื่อให้ลมผ่าน ฝังหลาบโลหะเรียกว่าลิ้นแคน (ซึ่งเลียนแบบมาจากลิ้นนก) ตรงรูสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆ ซึ่งตรงลิ้นแคนนี้ เมื่อประกอบเป็นแคนแล้ว จะอยู่ภายในเต้าแคนอีกที มองไม่เห็น หากเป็นแคนลิ้นคู่ รูใส่ลิ้นแคนจะมีสองรูต่อหนึ่งลูกแคน
ถัดจากลิ้นแคนขึ้นไปประมาณ 15-20 ซ.ม. ในแนวเดียวกัน จะเจาะรูกลมเล็กๆ ลำละหนึ่งรู เพื่อใช้นิ้วปิดเปิดเวลาบรรเลงเพลง เรียกรูนี้ว่า รูนับ
ถัดจากลิ้นแคนลงมาด้านล่าง ระยะห่างขึ้นอยู่กับเสียงที่ต้องการ ด้านในจะบากรูไว้ลำละรู รูนี้คือรูแพวล่าง เป็นรูพื้นฐานในการกำหนดระดับเสียง และถัดจากรูนับขึ้นไปอีก ระยะห่างขึ้นอยู่กับเสียงที่ต้องการ หรือประมาณ 3 เท่าของระยะรูแพวล่างกับลิ้นแคน ด้านในจะบากรูไว้ลำละรู รูนี้ เป็นรูแพวบน เป็นรูสำหรับปรับแต่งระดับเสียง (การปรับเสียง มีสองวิธีคือ ปรับโดยระยะห่างของรูแพวบน กับปรับโดยขูดลิ้นแคน)
แคนแต่ละดวงจะมีจำนวนลูกแคนไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับชนิดของแคน เช่น แคนเจ็ดมี 14ลูก แคนแปด มี16 ลูก เป็นต้น
2.เต้าแคน
ทำจากแก่นไม้ที่เนื้อไม่แข็งมากนัก เช่นไม้แคนหรือไม้ตะเคียน ไม้หนามแท่ง ไม้ประดู่ แต่ที่นิยมมากที่สุดคือ รากไม้ประดู่ เพราะรากไม้ประดู่ ไม่แข็งมากนัก ตัด บาก เจาะทำรูปทรงของเต้าแคนได้ง่าย
เต้าแคน มีลักษณะกลมเป็นกระเปาะ หัวท้ายสอบ ตรงกลางเจาะบากเป็นรูทะลุรูปสี่เหลี่ยม สำหรับใส่ลูกแคน ด้านหน้าหรือหัวเต้า เจาะรูกลมทะลุถึงรูสี่เหลี่ยมตรงกลาง สำหรับเป่าให้ลมเข้าไปสั่นสะเทือนลิ้นแคนภายในเต้าแคน ด้านท้ายเต้า เหลาตกแต่งเป็นรูปทรงคล้ายหัวนม ซึ่งเต้าแคนของช่างแคนแต่ละคน จะไม่เหมือนกัน ช่างแคนตัวจริงทุกคนจะมีรูปร่างเต้าแคนอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เต้าแคน ก็คือโลโก้ของช่างแคนคนนั้นนั่นเอง
ช่องว่างระหว่างเต้าแคนและลูกแคน จะถูกปิดผนึกแน่นด้วยขี้สูด เพื่อปิดกั้นมิให้ลมที่เป่าเข้าไปนั้นรั่วออกมาข้างนอก ลมที่เป่าเข้าไป จะได้ผ่านออกทางลิ้นแคนอย่างเดียว
3. หลาบโลหะ
หลาบโลหะ คือแผ่นโลหะบางๆ ใช้สำหรับทำลิ้นแคน โดยช่างแคน จะค่อยๆ ทุบตีก้อนโลหะ จากที่เป็นก้อน ให้เป็นแผ่นเส้นยาวๆ จากที่เป็นแผ่น ให้กลายเป็นแผ่นบางๆ พอเหมาะกับการใช้งาน
หลาบโลหะที่ใช้ทำลิ้นแคน เป็นโลหะผสม โดยมากใช้โลหะผสมระหว่างทองแดงกับเงิน โลหะที่ช่างแคนนิยมใช้นั้น ไม่ใช่โลหะบริสุทธิ์ เพราะโลหะบริสุทธิ์หาได้ยาก ช่างแคนมักจะใช้เหรียญสตางค์แดง ซึ่งเป็นเหรียญหนึ่งสตางค์สมัยก่อน ผสมกับเงิน(เกือบ)บริสุทธิ์ที่หาซื้อจากร้านทอง บางทีเงินบริสุทธิ์ไม่มี ก็ใช้เหรียญ5บาทแบบโบราณแทน เพราะมีส่วนผสมของเงินอยู่มาก ช่างแคนแต่ละคน จะมีสูตรผสมโลหะอันเป็นสูตรของตนอยู่ ซึ่งการผสมโลหะนี้ โดยมากช่างแคนมิได้ผสมเอง จะจ้างช่างผสมโลหะอีกที เพียงแต่กำชับอัตราการผสมโลหะแก่ช่างผสมโลหะ เท่านั้น
นอกจากใช้ทองแดงกับเงินแล้ว บางแห่ง (แคนตลาด) ก็นิยมใช้หลาบโลหะที่เป็นทองเหลือง เพราะราคาถูก หาได้ง่าย
แคนที่ใช้ลิ้นที่ทำจากทองแดงผสมกับเงิน เรียกว่า แคนลิ้นเงิน ให้โทนเสียงออกนุ่มๆ มีเสียงสดใสโทนแหลมของโลหะทองแดง และเสียงโทนทุ้มของโลหะเงิน ดังนั้น แคนลิ้นเงิน จึงให้เสียงที่ฟังไพเราะ สบายหู นุ่มหู… หากต้องการให้ออกโทนทุ้มมากๆ ก็ใส่เงินเข้าไปมากขึ้น… แต่ว่า การใส่เงินเข้าไปมาก จะทำให้หลาบโลหะนั้น อ่อนเกินไป การสปริงตัวหรือการคืนตัวไม่ดี ส่งผลให้ลิ้นนองง่าย ซึ่งไม่เป็นผลดี … สูตรผสมที่พอเหมาะ ช่างแคนแต่ละคนจะทราบดี …เนื่องจากแคนลิ้นเงิน ให้เสียงที่สดใสปนนุ่มนวล จึงเป็นแคนที่หมอแคนทั้งหลาย นิยมเป็นที่สุด และเนื่องจากเงินและสตางค์แดง ปัจจุบันราคาแพงขึ้น แคนลิ้นเงิน (สูตรนี้) จึงราคาแพงขึ้นตามไปด้วย
แคนที่ใช้ลิ้นที่ทำจากสตางค์แดงล้วนๆ ไม่ผสมเงิน เรียกว่า แคนลิ้นทองแดง หรือแคนลิ้นทอง แคนลิ้นทอง(แดง)นี้ เนื่องจากหลาบโลหะสตางค์แดง มีความแข็งมาก จึงให้เสียงโทนแหลมใส เป่าแล้วเสียงดังไกล แต่มีความนุ่มนวลน้อย คนที่ชอบเสียงโทนทุ้ม ฟังแล้วอาจจะบอกว่า แสบแก้วหู แต่คนที่ชอบเสียงโทนสดใส อาจจะบอกว่า เสียงใสไพเราะดี ซึ่งก็แล้วแต่คนชอบ ลิ้นแคนที่ทำจากหลาบโลหะสตางค์แดง เนื่องจากแข็ง เหนียว ทน มีการคืนตัวดี อายุการใช้งาน จึงนานกว่าลิ้นเงินเล็กน้อย (ตามความเข้าใจของช่างแคน)
แคนที่ใช้ลิ้นที่ทำจากทองเหลือง เรียกว่า แคนลิ้นทองเหลือง หรือเพื่อให้ดูมีคุณภาพ บางทีก็บอกว่า แคนลิ้นทอง (เหลือง..อยู่ในวงเล็บ) ทองเหลือง หาค่อนข้างง่ายกว่าสตางค์แดง และราคาไม่แพงเท่าสตางค์แดง (สตางค์แดง ในอดีตมีราคาแค่หนึ่งสตางค์ แต่ปัจจุบัน ราคาแพงขึ้นหลายพันเท่าตัว) ช่างแคนที่ทำแคนตลาด (แคนคุณภาพต่ำ-ปานกลาง) จึงนิยมใช้… ทองเหลืองเป็นโลหะอ่อน ไม่เหนียว มีการคืนตัวปานกลาง ให้เสียงใสนุ่ม แต่ไม่แน่น เสียงจะออกแนวโปร่งๆ หลวมๆ เพราะลิ้นทองเหลืองค่อนข้างอ่อน โดนลมกระทบนิดเดียว ก็สั่นเกิดเสียง ดังนั้น แคนลิ้นทองเหลือง เมื่อเราลองเป่าดูตอนแรกซื้อ จะเป่าง่ายมาก เป่าเบาๆ ก็ดัง ไม่เปลืองลม แต่หลังจากเป่าไปเป่ามา ลิ้นทองเหลืองนั้น เนื่องจากอ่อน คืนตัวไม่ดี ก็ไม่คืนเข้าที่เดิม เป็นลิ้นนอง หรือลิ้นหมูบหลบเข้าข้างใน ทำให้ลมหนีออกตามช่องนั้นๆ ได้ แทนที่จะไปออกเฉพาะลิ้นที่เรานับหรือปิดรู ลักษณะนี้ จะทำให้ผู้เป่าเปลืองลมมากขึ้น เพราะลมรั่ว นั่นเอง … อีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากลิ้นอ่อน และคืนตัวไม่ดี เมื่อเป่าแรงๆ หรือดูดแรงๆ ลิ้นอาจงอแล้วไม่คืนตัว หรือลิ้นอาจหักได้ง่าย…. แคนลิ้นทองเหลือง หมอแคนอาชีพไม่นิยมใช้ (แต่หมอแคนตามบ้าน อาจจะใช้ เพราะราคาถูก… ไม่มีเงินซื้อแคนแพงๆ)
แคน จะให้เสียงที่ไพเราะหรือไม่ นอกจากความกล่อมกัน ความเข้ากัน ความกินกันดี ของเสียงแต่ละเสียงแล้ว วัสดุของตัวหลาบโลหะที่ใช้ทำลิ้น ก็ถือว่าสำคัญ เพราะเป็นการกำหนดโทนของเสียงแคน
แผ่นโลหะที่ใช้ทำลิ้นแคน จะกว้างแคบ สั้นยาว ขึ้นอยู่กับระดับเสียงของลูกแคนนั้นๆ เช่น เสียงต่ำ จะยาวกว่าเสียงสูง โดยประมาณแล้ว แต่ละแผ่นจะยาวประมาณ3เซนติเมตร กว้างประมาณ 4 เซนติเมตร และหนาประมาณ0.5 มิลลิเมตร ที่แผ่นแต่ละแผ่น จะตัดตรงกลางแนวยาวทำเป็นลิ้น ดังรูป และลิ้นนี้ จะหนาบางไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับเสียงที่ต้องการ ช่างแคน จะใช้มีดตอกและติวไม้รวกขูดแต่งลิ้น เพื่อปรับเสียง… หากขูดด้านปลายลิ้นให้บางลง เสียงจะสูงขึ้น หากขูดด้านโคนลิ้นให้บางลง เสียงจะต่ำลง… ซึ่งถ้าขูดจนบางเต็มที่แล้ว เสียงยังไม่ได้ ช่างแคนก็จะแก้ที่ รูแพวบนของแคนลูกนั้น … บากรูให้ใกล้ลิ้นเข้ามาอีก จะทำให้เสียงสูงขึ้น… การแก้ที่รูแพวบนนั้น แก้ได้เพียงบากให้ใกล้ลิ้นแคนเข้าไปอีก เท่านั้น ดังนั้น ตอนแรกที่บากรูแพวบน ช่างแคนมักจะเผื่อเอาไว้ คือบากให้ไกลๆ เอาไว้ก่อน แล้วค่อย บากเข้ามาทีหลัง… แต่สำหรับช่างแคนที่ชำนาญ ก็บากได้ค่อนข้างแม่น
4. ขี้สูดหรือชันโรง
เป็นขี้ผึ้งเหนียวสีดำที่ได้จากรังของแมลงชนิดหนึ่งตัวเล็กกว่าผึ้งเรียกว่า แมลงขี้สูด หรือบางแห่งเรียก แมงน้อย คุณสมบัติของขี้สูดคือ อ่อน เหนียว ยืดหยุ่น ไม่ติดมือและไม่แห้งกรอบ ขี้สูดใช้สำหรับติดยึดลูกแคนเข้ากับเต้าแคน ทั้งยังช่วยปิดอุดช่องว่างระหว่างลูกแคนกับเต้า และระหว่างลูกแคนกับลูกแคน เพื่อไม่ให้ลมที่ผ่านเข้าสู่โพรงเต้าแคน รั่วไหลออกจากเต้า
5. ไม้กั้น
ไม้กั้น ทำจากไม้ไผ่ เหลาเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม กว้างประมาณ 1 ซ.ม. หนาประมาณ 1 ซ.ม. และยาวประมาณ ไม่เกินความกว้างของแคนดวงนั้น
ไม้กั้นนี้ ใช้กั้นระหว่างลูกแคนแพซ้าย กับแพขวา ตรงจุดที่มีเชือกมัด ซึ่งจุดที่มีเชือกมัด โดยมากจะมีอยู่ 3 จุดคือ ด้านล่าง 1 จุด ตรงกลางแถวๆปลายลูกแคนที่สั้นที่สุด 1 จุด และด้านบนตรงปลายลูกแคนที่ยาวที่สุด อีก1 จุด… นอกจากนั้น ตรงรูสี่เหลี่ยมของเต้าแคน ก็ใช้ไม้กั้นอีก 2 จุด บน-ล่าง รวมแล้ว แคน 1 ดวง ใช้ไม้กั้นประมาณ 5 อัน
6. เชือก
เชือก ใช้สำหรับมัดยึดลูกแคนให้อยู่ในรูปทรงที่ต้องการ ให้แคนมีความแข็งแรงขึ้น เชือกมัดนี้ นิยมใช้ เครือหญ้านาง และหวาย แต่บางแห่งในปัจจุบัน ก็ใช้เชือกฟาง แคนที่ผลิตที่แถวร้อยเอ็ด นิยมใช้เครือหญ้านาง เป็นเชือกรัดแคน แคนที่ผลิตที่แถวนครพนม นิยมใช้หวาย เป็นเชือกรัดแคน
การเลือกแคน
แคนจะมีเสียงดีหรือไม่เพียงใด ขึ้นอยู่กับคุณภาพของแคนเป็นสำคัญ วิธีการเลือกแคนให้ได้แคนที่ดีมีคุณภาพดี นอกจากดูรูปลักษณ์ภายนอก เช่นลูกแคน ต้องไม่แตก เป็นต้นแล้ว อาจพิจารณาได้ดังนี้
- ไม่กินลม หมายความว่า เวลาเป่าไม่ต้องใช้ลมมากนักก็ดัง แคนที่ใช้ลมเป่ามากจะทำให้ผู้ที่เป่าเหนื่อยเร็ว ซึ่งสาเหตุสำคัญ มักจะเนื่องมาจากลิ้นแคนที่หนาและแข็งมักจะกินลมมาก หรืออาจจะเป็นเพราะแคนมีรูรั่วตามเต้าของแคน ซึ่งขี้สูดอุดไม่สนิทก็อาจเป็นได้
- เสียงหนึ่ง ๆ ควรจะดังเท่ากันทั้งเวลาสูดลมเข้าและเป่าลมออก
- เสียงทุกเสียงควรจะดังเท่ากันเมื่อใช้ลมเป่าเท่ากัน
- คู่เสียงของแคนซึ่งเป็นคู่แปดทุกคู่ ควรจะดังเท่ากัน และมีระดับเสียงเข้าคู่กัน อย่างสนิทไม่ผิดเพี้ยน จึงจะได้คู่เสียงที่กลมกลืน และควรดังเท่ากัน ทั้งเวลาดูดลมเข้าและเป่าลมออก
- ลิ้นแคน ต้องไม่ “นอง” คือ เมื่อไม่ปิดรูใดๆ เลย แล้วลองเป่าลมเข้า หรือดูดออกอย่างแผ่วเบา แคนต้องไม่มีเสียง… ถ้ามีเสียงครางสั่นเบาๆ เรียกว่าแคนลิ้นนอง
- เป่าแล้ว นอกจากไม่กินลม เสียงต้องแน่น ใส ไม่โปร่งจนเกินไป
- แคนที่ใช้ลิ้นแคนคุณภาพดี แม้จะเป่าหรือดูดแรงๆ ปานใดก็ตาม ลิ้นต้องไม่เสียรูป ถ้าเป่าหรือดูดแรงๆ แล้ว ลิ้นเสียรูป โดยงอออกด้านนอกก็ดี หลบงุ้มเข้าด้านในก็ดี แสดงว่าลิ้นแคนอ่อนเกินไป ขาดการสปริงตัวที่ดี… อันเป็นสาเหตุให้แคนลิ้นนอง และลิ้นหัก ได้ง่าย
- ลิ้นแคนคุณภาพดี คือลิ้นเงิน (สตางค์แดงผสมโลหะเงิน) และลิ้นทอง(สตางค์แดงล้วนๆ) ส่วนลิ้นทอง(ทองเหลือง) คุณภาพไม่ค่อยดี อายุการใช้งานน้อย
** แคนที่ลูกแคนบาง เสียงจะก้องกังวานดี เพราะลูกแคนเกิดกำทอนดี แต่ข้อเสียคือ ลูกแคนที่บางจะแตกง่าย
** ลิ้นแคนที่บาง เป่าง่าย แต่ข้อเสียคือลิ้นนองง่าย และหักง่าย ดังนั้น สูตรผสมโลหะ จึงสำคัญมาก
ประเภทของแคน
ประเภทของแคน อาจแบ่งได้หลายลักษณะ ในที่นี้ จะแบ่งประเภทของแคน ใน 3 ลักษณะ คือ แบ่งตามจำนวนลูกแคน, แบ่งตามระดับเสียงหรือคีย์, และ แบ่งตามลิ้นแคน
แบ่งตามจำนวนลูกจะได้ดังนี้
แคนหก มีลูกแคน 6 ลูก (3 คู่)
แคนเจ็ด มีลูกแคน 7 คู่ (14 ลูก )
แคนแปด มีลูกแคน 8 คู่ (16 ลูก)
แคนเก้า มีลูกแคน 9 คู่ (18 ลูก)
แคนสิบ มีลูกแคน 10 ลูก (5 คู่)
โดยแคนที่นิยมและถือว่าเป็นมาตรฐานคือ แคนแปด
แบ่งตามระดับเสียงหรือคีย์ เช่น
แคนห้าโป้
แคนหกโป้
แคนเจ็ดโป้
แคนแปดโป้
แคนเก้าโป้
จริงๆแล้ว การแบ่งแบบนี้ ไม่ใช่ประเภทของแคน แต่เป็นชื่อเรียกของคีย์แคน
แบ่งตามลิ้นแคน จะได้
แคนลิ้นเงิน
แคนลิ้นทอง (แดง)
แคนลิ้นทอง (เหลือง)
โดยแคนลิ้นเงิน เป็นแคนที่ให้เสียงไพเราะ นุ่มนวล เป็นที่นิยมของหมอแคนอาชีพ ที่สุด
การเก็บและดูแลรักษาแคน
แคน เป็นเครื่องดนตรีที่ต้องการความเอาใจใส่ ทะนุถนอมดูแลรักษา เป็นอย่างมาก เพราะว่าแคนเป็นเครื่องดนตรีที่เปราะบาง ชำรุดเสียหายง่าย ผู้ใช้จึงควรทราบวิธีการดูแลรักษาอย่างง่ายๆ ดังต่อไปนี้
- ควรจะเป่าอยู่เสมอ การเป่าบ่อย ๆ จะทำให้แคนมีเสียงดีและนุ่มนวล หากปล่อยไว้นาน ไม่เป่าเลย ลิ้นแคนอาจขึ้นสนิมเขียว สนิมดำ ทำให้เสียงเพี้ยนได้
- ควรเก็บแคนไว้ในกล่องที่แข็งแรง และมีฝาปิดที่มิดชิด เพื่อกันการกระแทก กันแตก กันแมลงและฝุ่นมิให้ไปจับเกาะ ตามรูลูกแคนและตามลิ้นแคน จะทำให้แคนชำรุดได้ อย่างน้อยที่สุดก็ควรเก็บรักษาแคนไว้ในถุงผ้าที่ปิดได้สนิท และแขวนไว้ในที่ที่ทนทาน ปลอดภัย… หากวางตั้งไว้ อาจล้มแตกเสียหายได้
- ไม่ควรนำแคนไปวางตากแดด หรือเอาไว้ใกล้ไฟ หรือเผลอวางไว้ในที่อุณหภูมิสูง เพราะจะทำให้ขี้สูดที่อุดตามเต้าแคนเยิ้ม ไปเกาะติดลิ้นแคน อาจเป็นสาเหตุให้เป่าไม่ดัง เพราะลิ้นแคนไม่สั่นสะเทือน
- ไม่ควรนำแคนไปจุ่มน้ำ โดยเข้าใจผิดว่าจะเป็นการทำความสะอาดแคน เพราะจะทำให้ลิ้นแคนเป็นสนิมได้
- ถ้าลูกแคนแตกเพียงเล็กน้อย อาจซ่อมแซมได้ โดยใช้กาวตราช้างติด หรือใช้เทปใสพันติดไว้ ให้คงรูปในสภาพที่ดีอย่างเดิม แต่ถ้าแตกมากก็ต้องเปลี่ยนลูกแคนนั้นใหม่ จึงจะใช้การได้ดีเช่นเดิม
- ลูกแคนที่ แตกเลยรูแพวล่างขึ้นมาทางเต้าแคนก็ดี แตกเลยรูแพวบนลงมาทางเต้าแคนก็ดี จะทำให้เสียงเพี้ยน ต้องใช้กาวตราช้างติดรอยแตกให้สนิท แต่ถ้าแตกมาก ไม่สามารถติดซ่อมได้ ควรนำไปให้ช่างแคนเปลี่ยนลูกใหม่
- การซ่อมแคนกรณีปัญหาลิ้นนอง ช่างแคนทุกคน สามารถซ่อมแก้ไขให้ดีได้ดังเดิม แต่หากเป็นการเปลี่ยนลูกแคน การเปลี่ยนลิ้นแคน ควรนำไปให้ช่างแคนที่ทำแคนเต้านั้น เป็นคนซ่อม จะดีที่สุด เพราะหากนำไปให้ช่างแคนคนอื่นเปลี่ยนลิ้น ลิ้นแคนที่ช่างแคนแต่ละคนใช้ อาจจะมีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน อันเป็นสาเหตุให้ เมื่อใช้ลมเท่ากัน ลิ้นแคนเดิมกับลิ้นแคนใหม่ ให้เสียงดังไม่เท่ากัน… แต่ถ้าจำเป็น ควรให้ช่างแคนนั้น เปลี่ยนลิ้นแคนใหม่ทั้งหมด เพื่อคุณภาพเสียงที่ดี
สนใจสินค้าติดต่อที่... 0894226683 สนใจสินค้าติดต่อที่... 0894226683
ประกาศขณะนี้ระบบ.......
WWW.can-dd.com ได้ทำการปรับปรุงใหม่หน้าเว็บไซต์ใหม่
ลูกค้าท่านใดสนใจสินค้ากรุณาติดต่อที่...
0894226683 หรือ เพจขาายเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานบ้านท่าเรือ
โดยช่างสืบศักดิ์
https://www.facebook.com/sellkaenbantharue
ต้องอภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้ด้วย